วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ไอซีทีเปรยอัยการไฟเขียว 3G ดีแทคเชิงพาณิชย์

รมว.ไอซีที เผยสำนักอัยการสูงสุดร่อนจดหมายถึงกสท แล้วระบุดีแทคสามารถเดินหน้าทำ 3G เชิงพาณิยช์ได้ แต่กสท ยังคาใจเตรียมร่อนจดหมายถามอัยการอีกรอบ พร้อมลั่นให้เวลา 6 เดือนข้าราชการประจำ ก่อนสั่งโยกย้าย ด้านบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้รายชื่อแล้วคาดอีก 2 สัปดาห์รู้ผล

 

554000012493202[1]


       น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวภายในงาน เสวนาจิบน้ำชาหัวข้อ เปิดนโยบายไอซีทีรัฐบาลใหม่ว่า ประเด็นสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ในปัญหาการเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ได้หรือไม่นั้น โดยทางกสท ได้ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตีความ ซึ่งได้ยื่นเรื่องไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เท่าที่ทราบเรื่องจากกสท ทางสำนัก งานอัยการสูงสุดได้ส่งจดหมายยืนยันกลับมาทางกสท แล้ว โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญระบุว่า ดีแทคสามารถเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ได้แล้ว แต่ทางกสท ยังคงมีประเด็นสงสัยในเนื้อหาของจดหมายที่อัยการส่งมาบ้างเรื่องจึงจะดำเนิน การส่งจดหมายกลับไปสอบถามยังสำนักอัยการสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง
       ส่วนกระแสที่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่ข้าราชการประจำ กระทรวงอาจโดนปรับเปลี่ยน โยกย้าย หรือรื้อโครงสร้างข้าราชการนั้น ตนมองว่าไม่เห็นด้วยเพราะเราไม่มีนโยบายในการทำงานดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มีแนวคิดให้มีการแข่งขันในการทำงานมากกว่า
       “อย่างไรก็ดี จะให้เวลากับข้าราชการประจำในการทำงานภายหลังมอบนโยบายภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นหากไม่มีผลงานหรือความคืบหน้าใดใดก็อาจจะต้องเข้าไปรื้อบ้างโครง สร้าง และโยกย้ายบ้างตำแหน่งก็เป็นไปได้”
น.อ.อนุดิษฐ์ ยังกล่าวว่า ส่วนกรณีการสรรหาคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน ) คาดว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้จะเห็นรายชื่อทั้งหมด โดยในตอนนี้มีรายชื่อทั้งหมดอยู่ในมือแล้วเหลือเพียงพิจารณาเท่านั้น
       ขณะที่การดำเนินการกับสัญญาสัมปทานในโครงการต่างๆ ที่มีข้อสังสัย และปัญหาอยู่ในตอนนี้ โดยทางกระทรวงไอซีทีจะได้ทำความเห็นเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ให้นางจีรวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีทีกลับไปรวบรวมข้อมูล เพื่อพิจารณาเพื่อตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายละเอียดเพื่อความโปร่งใส และตอบคำถามต่อสังคมได้ แต่คงไม่สามารถชี้ความถูกผิดได้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และการดำเนินการบางโครงการเป็นการดำเนินการของรัฐบาลชุดที่แล้ว ขณะนี้มีประมาณ 24 กรณี
       นอกจากนี้ ทางกระทรวงไอซีทีต้องการให้มีการลดการซ้ำซ้อนการลงทุนของทีโอที และกสท เนื่องจากต้องรอให้จัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน รวมทั้งให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ไปปรับแผนธุรกิจและแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนที่มีการลงทุนซ้ำซ้อน อาทิ โครงการลงทุนเอฟทีทีเอ็กซ์ (FTTx) หรือการให้บริการโทรคมนาคมครบวงจนผ่านอินเตอร์น็ตที่เป็นสายไฟเบอร์ออฟติก
       น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนที่รอความเห็นชอบจากกระทรวงไอซีทีก่อนนำเสนอสำนักงานคณะ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนของกสท ได้แก่ การลงทุนสร้างเสาโทรคมนาคมและซื้อเสาคืนเสาโทรคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์ มือถือ 3 จี จากบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส จำกัด ในเครือบริษัท ทรูมูฟ จำกัด วงเงิน 12,500 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนของทีโอที ได้แก่ โครงการลงทุนสร้างโครงข่ายอัจฉริยะเพื่ออนาคต หรือ เอ็นจีเอ็น เพื่อปรับสายทองแดงเป็นสายไฟเบอร์ออฟติก และปรับเปลี่ยนชุมสายเก่าในหลายพื้นที่ มูลค่า 13,000 ล้านบาท
       นอกจากนั้นนโยบายของกระทรวงไอซีที ยังคงยึดแนวทาง SAMART THAILAND ในการที่จะทำให้ไอทีเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและเป็นสิ่งจำเป็นของ ประชาชน โดยนโยบายเร่งด่วน คือ โครงการแจกแท็บเลตให้กับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ในปี 2555 ซึ่งต้องร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ การให้บริการ wi-fi ฟรี สำหรับสถาบันการศึกษาและสถานที่ราชการเป็นบริการฟรี รวมทั้งระบบแจ้งเตือนภัยที่เป็นแบบบรูณาการ
       รวมทั้งการให้บริการไอทีที่ครอบคลุม และเข้าถึงการให้บริการของประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น บริการด้านสาธารณสุข และการเพิ่มขีดความสามารถด้านการติดต่อสื่อสารจากระบบ 2G เป็นระบบ 3G อีกทั้งอยากเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อหา หรือ content และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา แต่ยอมรับว่า อาจมีการปรับแก้กฎหมายด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสอดคล้อง โดยคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

ข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น